พิพิธภัณฑ์ เพอรานากัน ภูเก็ต
เกิดจากความสงสัย เกิดจากการตั้งคำถาม เกิดจากการรวบรวมเรื่องเล่าของคนในท้องถิ่น รวมทั้งความกรุณาของคนในท้องถิ่นภูเก็ตที่ให้การสนับสนุน ทั้งบริจาคข้าวของเครื่องใช้ เสื้อผ้า รองเท้า เฟอร์นิเจอร์ และของที่เจ้าของให้ความสำคัญอยากส่งต่อให้คนรุ่นหลังได้เห็นได้รับรู้ถึงความเป็นมา การใช้ชีวิตในอดีตของคนภูเก็ต
เริ่มแรก หย่งยูฉ่าง ซินยูฉ่าง ทวีสุวัณณ์ เป็นร้านทองร้านเพชรที่อยู่คู่กับชาวภูเก็ตมากว่า 4 รุ่น หรือมากกว่า 70 ปี ทางแอดมินเองก็เป็นลูกหลานจากหย่งยูฉ่างและซินยูฉ่าง ปัจจุบันก็ดูแลกิจการของทวีสุวัณณ์ซึ่งมีความเชี่ยวชาญเครื่องประดับภูเก็ต มาอย่างยาวนาน ซึ่งนำไปสู่จุดเริ่มต้นของพิพิธภัณฑ์ (1) ความสงสัย ว่าเค้าใส่กันอย่างไร (2) ตั้งคำถามว่าใส่ทำไม ใส่เวลาใด ขนบธรรมเนียม ประเพณีการสวมใส่ของเครื่องประดับนั้นๆเป็นอย่างไร (3) จึงได้ค้นคว้าและค้นพบว่า เครื่องประดับแต่ละชิ้น มีชื่อ มีความหมาย มีเรื่องเล่า และภาษาที่ใช้เรียก ทั้งภาษาไทย จีน ตะวันตก ตะวันออก ซึ่งทั้งหมดประยุกต์รวมกัน ออกมาเป็นเครื่องประดับเพอรานากัน
มีเรื่องเล่าอยู่ว่า แต่ละตระกูลในภูเก็ตที่มีฐานะก็จะสั่งทำเครื่องประดับไปที่ปีนัง บางบ้านก็จะจ้างช่างแบบเหมาให้ช่างทองเข้ามาอยู่ที่บ้านด้วย โดยมีห้องสำหรับไว้ทำเครื่องประดับ ส่วนอาจ้อ (คุณทวดของแอดมินเอง) อังมอเหลาของที่บ้านจะสั่งทำจากปีนัง แล้วค่อยนำมาให้สมาชิกในบ้านใส่ จนกระทั่งยุคที่มีร้านทองจากบ้านหม้อมาเปิดที่ภูเก็ต (หย่งยูฉ่าง) จึงเริ่มมีการผสมผสานงานดีไซน์เครื่องประดับที่สั่งทำในภูมิภาค และจากทางกรุงเทพ
ยกตัวอย่างเครื่องประดับที่มีชื่อของภูเก็ต อาทิเช่น
“ปิ่นตั้ง” ในภาษามลายู แปลว่าดาว โดยมีจุดเด่นเป็นรูปทรงดาว 6 แฉก เครื่องประดับชิ้นนี้ มักใช้ประดับตกแต่งเป็นเซ็ทบนเสื้อครุยยาวจำนวนหลายๆชิ้น เจ้าบ่าวมักประดับปิ่นตั้งบนหมวกและปกเสื้อสูท ผู้ชายที่ติดปิ่นตั้งบนปกเสื้อสูทจะคิดว่าตนเองเป็นเจ้าชายหรือเป็นพวกขุนนางทางยุโรปมียศฐาบรรดาศักดิ์ เนื่องจากรูปดาว มีลักษณะประกายแวววาว อยู่ในที่สูง ปิ่นตั้งสามารถสวมใส่ในผู้หญิง ผู้ชาย สมัยก่อนมีเครื่องประดับใส่ต้องมีฐานะพอสมควร สมัยโบราณทั้งในต่างประเทศหรือประเทศไทย
“กอรอสัง” เป็นเครื่องประดับสามชิ้น มีตัวใหญ่อยู่ด้านบนใต้ปกเสื้อตัวใน นิยมเรียก ตัวแม่ และด้านล่าง 2 ตัว เรียกว่า ตัวลูก ใช้กลัดแทนกระดุม สำหรับชุดเสื้อครุย ตัวแม่มักมีลักษณะคล้ายรูปหัวใจหรือลูกพีช ซึ่งเป็นจุดเด่นบนชุดครุยยาวของเจ้าสาว ตรงส่วนปลายของกอรอสังจะเอียงชี้ไปทางซ้ายเล็กน้อย คือชี้ไปที่หัวใจของผู้สวมใส่ และมีตัวลูกอีก 2 ตัว ซึ่งมีขนาดย่อมกว่าตัวแม่ตกแต่งเป็นลวดลายต่างๆ “กอรอสังสายสร้อย” คือ กอรอสังอีกแบบหนึ่งเป็นชุดเข็มกลัด 3 ชิ้นมีโซ่เล็กๆ เกี่ยวเนื่องกันเป็นชุดๆ บางชุดสามารถถอดโซ่ออกได้ ซึ่ง ความหมายของ “กอรอสังแม่ลูก” จะนำไปใช้สวมใส่ก็ต่อเมื่อหญิงสาวอยู่ในพิธีสมรส หรือแต่งงานแล้ว ส่วน “กอรอสังสายสร้อย” นั้น หมายถึงหญิงสาวที่ยังไม่ออกเรือน คำว่า “กอรอสัง” มีความเป็นไปได้ที่จะมีรากศัพท์จากประเทศตะวันตกอีกด้วย ซึ่งแอดมินเองก็เคยสนทนากับชาวโปรตุเกส ซึ่งเขาบอกว่า coração (อ่านออกเสียงเป็น กูราซู) ภาษาบ้านเขาแปลว่าหัวใจ ซึ่ง “กอรอสัง” ของบ้านเราที่รู้จัก ยังมีความคล้ายคลึง กับเครื่องประดับของชาติตะวันตกอีกด้วย